วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2553

อภิรักษ์ แซ่ฮ้อ คนจนผู้ยิ่งใหญ่....

เรื่องราวของ ชายคนหนึ่ง ที่สมองอาจจะไม่ได้เหมือนกับเราๆ ท่านๆ
เนื้อตัวที่มอมแมม พร้อมหายใจดังฟืดฟาด ทำให้หลายคนรู้สึกไม่อยาก
เข้าใกล้เขาคนนี้ มีอาชีพเป็นคนเก็บขยะ แต่เชื่อหรือไม่ ว่า เขาคนนี้ เดิน
เข้าธนคารทุกวัน เพื่อเอาเงินไปฝาก เป็นระยะเวลามากกว่า 16 ปี
ถามว่าเขาฝากเงินวันละ เท่าไร คำตอบที่ได้จากเขา ก็คือ 20 บาท วันละ
20 บาท ตั้งแต่สมัยเด็กๆ จนตอนนี้ มีเงินเก็บได้ประมาณ 4 หมื่น กว่าบาท
ชายคนนี้ มีชื่อว่า อภิรักษ์ แซ่ฮ้อ มีอาชีพประจำคือ การเก็บขยะขาย ไปไหน
ก็จะมีรถเข็นคู่กาย อยู่เสมอ เพราะนี่คือ เครื่องมือหากินของเขา


วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553

วัดหน้าพระเมรุ อยุธยา



วัดหน้าพระเมรุตั้งอยู่ริมคลองสระบัวด้านทิศเหนือของคูเมือง (เดิมเป็นแม่น้ำลพบุรี) ตรงข้ามกับพระราชวังหลวง สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น พุทธศักราช 2046 มีชื่อเดิมว่า “วัดพระเมรุราชิการาม” ที่ตั้งของวัดนี้เดิมคงเป็นสถานที่สำหรับสร้างพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งสมัยอยุธยาตอนต้นต่อมาจึงได้สร้างวัดขึ้น มีตำนานเล่าว่าพระองค์อินทร์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสร้างวัดนี้เมื่อ พ.ศ. 2046 วัดนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเมื่อครั้งทำศึกกับพระเจ้าบุเรงนองได้มีการทำสัญญาสงบศึกเมื่อ พ.ศ. 2106ได้สร้างพลับพลาที่ประทับขึ้นระหว่างวัดหน้าพระเมรุกับวัดหัสดาวาส

วัดนี้เป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ได้ถูกพม่าทำลายและยังคงปรากฏสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาอยู่ในสภาพสมบูรณ์มากที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา




จุดแดงบนหน้าผากสตรีอินเดีย

จุดแดงที่แต้มกลางหน้าผากเรียกว่า "ติกะ" (Tika) แต่ในบางครั้งอาจเรียกว่า "บินดิ" (Bindi) ซึ่งหมายถึงจุดที่เจิมบริเวณแสกผม โดยใช้นิ้วป้ายขึ้นไปตามรอยแสกผม
ปัจจุบันจุดบนหน้าผากสตรีอินเดีย อาจเรียกปนกันทั้ง ติกะ และ บินดี
สตรีในศาสนาพราหมณ์ฮินดูแต่โบราณนานมา เมื่อแต่งานแล้วจะแต้มจุดแดงที่กลางหน้าผาก เป็นสัญลักษณ์ของการมีพันธะด้านการครองเรือน ในฐานะผู้เป็นภรรยา ผู้เป็นแม่

สตรีอินเดียถือสามีเสมือนเทพ จะให้ความรักความเคารพอย่างสูง การเจิมหน้าผากจะทำในวันแต่งงาน เมื่อคู่บ่าวสาวเดินรอบกองไฟแล้วพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีวิวาห์ หรือผู้เป็นเจ้าบ่าวจะเจิมหน้าผากให้เจ้าสาว เป็นการประกาศว่าหญิงผู้นั้นเป็นภรรยาอย่างถูกต้องตามประเพณี สตรีชาวอินเดียจะต้องมีจุดนี้อยู่ตราบที่สามียังมีชีวิตอยู่ และจะต้องลบออกเมื่อสามีเสียชีวิต
ในกรณีที่เลิกร้างกัน สตรีผู้นั้นจะลบจุดออกได้ต่อเมื่อเป็นการเลิกร้างโดยคำสั่งของศาล หากสตรีผู้นั้นลบจุดติกะออกโดยที่สามียังมีชีวิตอยู่ หรือไม่ได้เลิกกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
จะถือว่าเป็นการกระทำสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ โดยทั่วไปจุดสีแดงนี้จะทำจากมูลวัวที่นำมาเผาและบดจนละเอียด แล้วผสมกับสีแดงชาดที่ได้จากรากไม้ มูลวัวไม่ถือว่าเป็นของสกปรก เพราะวัวเป็นพาหนะของพระเจ้า และกินพืชเป็นอาหาร ผงสีนี้เรียกว่า "ผงวิภูติ" มีจำหน่ายตามร้านค้า ผงนี้อาจมีการนำไปทำพิธีก่อนนำมาใช้ก็ได้


ลักษณะของจุดติกะมีหลายแบบ เดิมนิยมจุดกลม คนที่ยังสาวจะนิยมจุดเล็กเพราะสวยงามกว่า แต่พออายุมากขึ้นอาจแต้มจุดให้ใหญ่ขึ้น ปัจจุบันมีรูปแบบจุดอื่น ๆ เช่น รูปคล้ายหยดน้ำ หรือเป็นวงกลมและมีรัศมีโดยรอบเหมือนดวงอาทิตย์ ปัจจุบันติกะพัฒนารูปแบบไปมากทั้งรูปทรงและสีสัน บางทีก็ทำเป็นสติกเกอร์เพื่อสะดวกใช้ มีข้อสังเกตว่า ในบางครั้งจุดติกะอาจไม่ใช่สัญลักษณ์ของสตรีที่แต่งงาเพียงอย่างเดียว ติกะถือว่าเป็นสิ่งมงคล ชาวอินเดียบางกลุ่มจะใช้ในโอกาสอื่น ๆ เช่นเวลาไหว้พระ พราหมณ์จะให้ผงวิภูติ ผู้รับจะนำมาเจิมเพื่อเป็นสิริมงคล แต่ก็เป็นการเจิมเพียงชั่วคราวเท่านั้น คนที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมอินเดียมักเข้าใจว่า จุดแดงเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นชาวอินเดีย จึงมักแต้มจุดแดงเวลาที่แต่งกายเป็นชาวอินเดีย เช่นนางเอกในละคร แม้ยังเป็นสาวเป็นแส้ ก็แต้มจุดแดงกับเขาด้วย นี่เป็นเรื่องของการนำมาใช้โดยไม่ศึกษาให้ถ่องแท้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจุดแดงจะเป็นวัฒนธรรมของพวกพราหมณ์ฮินดู แต่สตรีชาวอินเดียที่แต่งงานแล้ว และไม่ใช่ชาวฮินดูแท้ ๆ อาจรับวัฒนธรรมนี้ไปใช้ ในชาวอินเดียบางกลุ่ม สัญลักษณ์ของสตรีที่แต่งงานแล้ว อาจเป็นการห้อยสายสร้อยสังวาลมงคล ซึ่งสามีมอบให้

ที่มา 108 ซองคำถาม
รูปภาพ http://tiny-news.blogspot.com/2008_02_01_archive.html และ wiki

ซุปไก่สกัด...มีคุณค่าโภชนาการสูง?


ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ใส่ใจดูแลสุขภาพกันมากขึ้นและมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพิ่มมากขึ้นมีการโฆษณาถึงประโยชน์ของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกันไปต่างๆ เช่นทำให้ร่างกายแข็งแรง ช่วยให้ความจำดีขึ้น เป็นต้นซุปไก่สกัดเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่รู้จักกันมานานแล้วโดยเชื่อว่าจะช่วยบำรุงสุขภาพ ทำให้ร่างกายแข็งแรง

รศ.วรรณวิบูลย์ กาญจนกุญชร อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารคณะอุตสาหกรรมเกษตร อธิบายว่าซุปไก่สกัดนั้นถ้าพิจารณาถึงเรื่องคุณค่าทางโภชนาการแล้วมีการวิเคราะห์โดยสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าซุปไก่สกัด100 มิลลิลิตร จะประกอบด้วย น้ำ 93 กรัม โปรตีน 8 กรัม แคลเซียม เหล็ก และวิตามินบีอีกเล็กน้อย เพราะฉะนั้นเมื่อดื่มซุปไก่สกัด 1 ขวด ในปริมาณ 80มิลลิลิตร ก็จะได้โปรตีนประมาณ 8 กรัม สำหรับคนทำงานทั้งหญิงและชายในขณะที่ร่างกายต้องการปริมาณโปรตีนประมาณ 44-55 กรัมต่อวัน

ซึ่งการบริโภคเนื้อสัตว์ในแต่ละวันก็จะได้รับโปรตีนในปริมาณตามที่ร่างกาย ต้องการตัวอย่างเช่น ในเนื้อสัตว์ 100 กรัม จะมีโปรตีนอยู่ประมาณ 16-20 กรัมเราควรบริโภคเนื้อสัตว์ประมาณ 300 กรัมจะทำให้ร่างกายได้รับโปรตีนเพียงพอกับความต้องการสำหรับคนที่มีร่างกายปกติและบริโภคอาหารได้เอง การบริโภค เนื้อสัตว์ เช่นเนื้อไก่จะได้สารอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารไม่แพ้ซุปไก่สกัดถ้าอยากบริโภคเพราะความเชื่อก็เป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคลแต่สำหรับคนที่ร่างกายมีความต้องการกรดอะมิโน หรือต้องการโปรตีนอย่างรวดเร็วการดื่มซุปไก่สกัดก็สามารถช่วยชดเชยสิ่งต่างๆได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว

TIPS
ศ.นพ. Azhar แพทย์ชื่อดังของประเทศมาเลเซียและคณะพบว่าหลังดื่มซุปไก่สกัดทุกวันสามารถช่วยลดความวิตกกังวลให้กับนักศึกษาแพทย์ที่กำลังเครียดจากการเตรียมสอบทั้งนี้ผู้วิจัยคาดว่าอาจจะเป็นเพราะโปรตีนและกรดอะมิโนที่มีมากในซุปไก่สกัดที่มีส่วนช่วยลดความวิตกกังวลสามารถช่วยในเรื่องการเรียนรู้ทำให้มีสมาธิและเพิ่มความจำของคนเราได้

ที่มา บทความเรื่อง ซุปไก่สกัด...มีคุณค่าโภชนาการสูง? วิทยาศาสตร์รอบตัวจาก สสวท
คัดลอกจาก
ศูนย์แบ่งปันความรู้ ม.น.ข

เขาทำดินสอกันอย่างไร

>>>เคยสงสัยกันไหมครับว่า เขาทำดินสอกันยังไง
บางคนอาจคิดว่าเขาเจาะรูไม้แล้วใส่ไส้ดินสอเข้าไป ดูจากลักษณะดินสอ เขาก็น่าจะทำแบบนั้น แต่จริง ๆ แล้วใช้วิธีอื่น


ดินสอเริ่มกรรมวิธีทำดินสอโดยนำไม้สน (cedar) มาตัดเป็นแผ่นบาง ๆ กว้างยาวประมาณ ๒ ๓/๔ นิ้ว คูณ ๗ ๑/๔ นิ้ว และหนาไม่เกิน ๑/๔ นิ้ว นำไม้แผ่นไปเข้าเครื่องเซาะร่องตามความยาวไม้ แผ่นหนึ่งเซาะได้ประมาณสี่ถึงเก้าร่องขึ้นอยู่กับขนาดของดินสอที่จะทำ จากนั้นนำไส้ดินสอความยาว ๗ นิ้ววางลงไปในแต่ละร่อง ไส้ดินสอนี้ทำจากกราไฟต์ ดินเหนียว และน้ำเล็กน้อย จุ่มในขี้ผึ้งเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งทนทาน

ขั้นตอนต่อไป คือ นำไม้ขนาดเท่ากันอีกแผ่นที่เซาะร่องแล้วมาประกบทับลงไป โดยยึดติดกันด้วยกาวอุตสาหกรรมคุณภาพสูง จะได้แผ่นไม้ที่มีไส้ดินสอเรียงแถวเป็นไส้ในอยู่ตรงกลาง จากนั้นใช้เครื่องตัดตัดแผ่นไม้ออกมาเป็นดินสอจำนวนเท่ากับไส้ ขั้นตอนสุดท้ายคือทาสีและนำยางลบมาติดกาวเข้ากับก้นดินสอ เป็นอันเสร็จกระบวนการ ตามสถิติบอกว่า บริษัทผลิตดินสอชื่อดังแห่งหนึ่งในอเมริกาทำดินสอได้ ๕๗๖,๐๐๐ แท่งในเวลาเพียงแปดชั่วโมง

ที่มา ๑๐๘ ซองคำถาม
รูปภาพ pencils.com


เพื่อความเข้าใจเพิ่มเติม เรามาดูวิดีโอประกอบกันดีกว่า

มาฝึกคิดนอกกรอบกันเถอะ!!!!!

ความคิดสร้างสรรค์" หรือ "ครีเอทีฟ" นั้น บางทีก็ต้องเริ่มต้นจากการ "คิดนอกกรอบ"
คำถามแรกของการคิดนอกกรอบก็คือ ทำไมต้องเหมือนกับสิ่งที่เป็นมาและที่ดีกว่าเป็นอย่างไร

เรื่องที่ 1
เป็นเรื่องครูในโรงเรียนสาธิตแห่งหนึ่งให้นักเรียนชั้น ป.3 แต่งเรียงความเป็นการบ้าน
ครูกำหนดตัวละคร 5 คนและตั้งชื่อ นักเรียนแค่นำตัวละครเหล่านี้ไปแต่งเรื่องมาเท่านั้น อะไรก็ได้
เด็กคนหนึ่งยกมือค้านบอกว่าไม่ชอบชื่อตัวละคร และขอเปลี่ยนชื่อใหม่ โดยเสนอชื่อตามสมัยนิยมมา 5 ชื่อ ครูแกล้งไม่ยอม ยืนยันให้ใช้ชื่อเดิม เธออยากรู้ว่าเด็กน้อยจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร เด็กหน้ามุ่ยแสดงชัดว่า ไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่ได้โต้เถียงอะไร
วันรุ่งขึ้นเด็กคนนั้นก็ส่งการบ้านเหมือนกับเพื่อน ๆ แต่ใบหน้าของเขายิ้มแย้มแบบมีเลศนัย รู้ไหมครับว่าเรื่องที่เขาแต่งมาเป็นอย่างไร ติ๊กต่อก...ติ๊กต่อก...ติ๊กต่อก
>>>>เฉลยครับ...นักเรียนคนนี้ทำตามกติกาของคุณครู คือให้ตัวละครทั้ง 5 คนใช้ชื่อตามที่ครูกำหนด
แต่พอเริ่มเรื่องปั๊บ ตัวละครทั้งหมดก็ไม่พูดพร่ำทำเพลง เดินขึ้นอำเภอทันที ขึ้นไปขอเปลี่ยนชื่อใหม่ ก็ชื่อที่เด็กน้อยคนนี้เสนอในห้องเรียนนั่นแหละครับ ภารกิจการเปลี่ยนชื่อเสร็จสิ้น จึงค่อยเดินเรื่องต่อไปตามจินตนาการของตนเอง ครูอ่านจบก็ยิ้มและหัวเราะ ไม่ได้ว่าอะไร แถมมาเล่าต่อด้วยความเอ็นดู เด็กน้อยคนนี้มีกระบวนการยืนยันเจตนารมณ์ของตนเองที่ฉลาดมาก สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตนเองต้องการโดยไม่ขัดแย้งกับกติกาที่ผู้ใหญ่กำหนด

เรื่องที่ 2
อาจารย์คนหนึ่งสั่งให้นักศึกษาทุกคนยืนชิดติดผนังห้อง แล้วส่งกระดาษให้คนละแผ่น ก่อนตั้งโจทย์แบบฝึกหัดง่าย ๆ "ให้ทุกคนพับเครื่องบินกระดาษ และปาจากที่ยืนอยู่ไปให้ถึงผนังฝั่งตรงข้าม"
ผนังนั้นห่างจากผนังอีกฝั่งหนึ่งที่นักศึกษายืนอยู่ประมาณ ๑๐ เมตร ทุกคนพยายามพับกระดาษเป็นรูปเครื่องบินต่าง ๆ หลากหลายรูปแบบตามที่คิดว่า จะทำให้พุ่งได้ไกลที่สุด ทุกคนปาเครื่องบินกระดาษของเขาอย่างแรงที่สุดแต่ไม่มีลำไหนพุ่งถึงผนังฝั่งตรงข้ามเลย
อาจารย์คนนั้นก็เดินเข้ามาแล้วบอกว่า ให้ทุกคนดูฝีมือการพับกระดาษระดับแชมป์เปี้ยนโลก
เขาใช้เวลาพับเครื่องบินไม่ถึง ๕ วินาที "เครื่องบิน" ของเขาไม่มีปีก "เครื่องบิน" ของเขาเป็นรูปทรงกลม ครับ เขาขยำกระดาษให้เป็นก้อนกลม ขยำให้แน่นที่สุดแล้วปาไปที่ผนังฝั่งตรงข้ามสุดแรง
"เครื่องบินกระดาษ" ของเขาไปถึง "เป้าหมาย" แม้จะไม่มีปีก เหตุผลง่าย ๆ สำหรับเรื่องนี้ก็คือ นักศึกษาทุกคนติด "กรอบ" เดิม ๆ ว่า เครื่องบินกระดาษต้องมีหน้าตาแบบเครื่องบินกระดาษ ทุกลำต้องมีปีก
ทุกคนคิดถึง "กรอบ" ของรูปแบบมากกว่า "เป้าหมาย" แต่เพราะอาจารย์คนนี้เริ่มต้นคิดที่ "เป้าหมาย" แล้วค่อยคิดรูปแบบการพับเครื่องบินกระดาษ เขาไม่ติดกรอบรูปลักษณ์แบบเดิม ๆ เพราะคำถามง่าย ๆ ว่า "ทำไมต้องเหมือนกับที่เป็นมา" เครื่องบินกระดาษของเขา จึงไม่เหมือนเครื่องบินของใคร แต่ถึง "เป้าหมาย" ที่ต้องการ

ที่มา หนังสือ แพ้ได้ แต่ไม่ยอม และ หนังสือ มองโลกง่ายง่าย สบายดี ของหนุ่มเมืองจันท์

ตลาดน้ำอโยธยา


ตลาดน้ำอโยธยา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เกิดขึ้นได้เนื่องจากต้องการให้ พื้นที่เมืองอโยธยาที่ อยู่บริเวณรอบนอกเกาะกรุงศรีอยุธยา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่สะท้อนวิถีชีวิตชาวกรุงเก่า ความเป็นอยู่ของคนเมืองรวยน้ำใจ และ อู่ข้าว อู่น้ำ ที่สำคัญ ซึ่งทุกวันนี้แทบจะหาไม่ได้แล้ว กลับคืนมาอีกครั้ง ภายในตลาดน้ำประกอบด้วยพื้นที่ส่วนที่เป็นน้ำจะอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยพื้นที่บก แบ่งเป็น 16 โซน ตามชื่ออำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดอยุธยา มีทั้งโซนของกินในเรือ จะนั่งรับประทานริมน้ำ หรือจะเดินไปทานไปก็ไม่ว่ากันแล้วแต่สะดวก เรื่องของกินนั้นไม่ต้องห่วงเพราะที่นี่เขาคัดสรรของอร่อยทั่วเมืองไทยมารวมไว้ ส่วนของฝากของที่ระลึกก็มีให้เลือกชมเลือกช็อปมากมาย สไตล์เก๋ไก๋ เดินกี่รอบก็ไม่เบื่อ ซึ่งร้านค้าร้านขายของต่าง ๆ ที่เข้ามาขายส่วนมากก็เป็นคนในพื้นที่ นับเป็นการกระจายรายได้และสร้างอาชีพสู่ชุมชนได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมมากมายทั้งเวทีการแสดงพื้นบ้านต่างๆ รอบตลาด ขี่ช้างชมโบราณสถาน ถ่ายรูปคู่เสือ นั่งรถม้า ขับเอทีวี พายเรือในบริเวณตลาดน้ำ การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย อาทิ โขน รำไทย เพลงฉ่อย เพลงละคร Hilight ยามค่ำคืนกับการแสดง มินิ ไลท์ แอนด์ ซาวน์ วันธรรมดามี 3 รอบ วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ 4 รอบเรียกได้ว่ามาที่เดียวได้ทั้งอาหารตาและอิ่มท้องในคราวเดียว ที่สำคัญเปิดบริการให้เที่ยวชมทุกวัน ตั้งแต่เช้ายันค่ำ

การเดินทาง

รถส่วนตัว
มุ่งหน้าตามถนนสายเอเชีย เลี้ยวซ้ายเข้าอยุธยาไปตามถนนโรจนะ ขับตรงถึงเจดีย์วัดสามปลื้ม ก่อนขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จากนั้นวนรอบวงเวียนเลี้ยวขวาเข้าทางวัดมเหยงคณ์ จะพบกับทางเข้าตลาดน้ำอโยธยา ซึ่งมีที่จอดรถรองรับกว่า 500 คัน

รถประจำทาง
ขึ้นรถ บขส กรุงเพทฯ-อยุธยา ต่อรถสองแถวที่ตัวจังหวัด ลงปากทางเข้าวัดมเหยงคณ์ และนั่งรถรับจ้างเข้าตลาดน้ำอโยธยา

ตลาดน้ำอโยธยา
65/12
หมู่ 7 ตำบลไผ่ลิง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โทรศัพท์
0-3588-1733
เปิด-ปิดเวลา 10.00น.-21.00น.


เหตุใดจึงเรียกคนเก็บสตางค์รถเมล์ว่า กระเป๋ารถเมล์





>>>เหตุใดจึงเรียกคนเก็บสตางค์รถเมล์ว่า กระเป๋ารถเมล์ ทั้งที่อุปกรณ์ที่ใช้เก็บเงินนั้นเป็นกระบอกตั๋ว ไม่ใช่กระเป๋า เคยสงสัยกันไหมครับ ถ้าอยากรู้ลองอ่านดูครับ


แก๊ป...แก๊ป...ค่าโดยสารด้วยครับ แก๊ป...แก๊ป...มีตั๋วหรือยังครับ เสียงเหล่านี้คงได้ยินชินหูบนรถเมล์ ขสมก. ในชีวิตประจำวันของชาว กทม.ที่อาศัยรถเมล์เป็นพาหนะในการเดินทางไปประกอบสัมมาชีพ และผู้ที่ทำให้เกิดเสียงดังกล่าวนั้น ไม่ใช่ใครที่ไหนก็คือ พนักงานเก็บค่าโดยสารนั่นเอง
เมื่อมานั่งพิจารณาทบทวนดูว่า "กระบอกตั๋ว" ที่พนักงานถืออยู่ในมือควบคู่กันไปกับการเก็บค่าโดยสารมีประวัติความเป็นมาอย่างไร ก็อยากจะนำมาเล่าสู่กันฟัง เดิมทีเดียวการเก็บค่าโดยสารโดยใช้ตั๋วเริ่มมาจากเรือเมล์ก่อน เพราะเรือเมล์เกิดก่อนรถเมล์ ตั๋วที่ใช้กับเรือเมล์นั้นจะเป็นชนิด "ตั๋วพับ" แบบซ้อนกันเป็นพับๆ จึงนิยมเรียกว่า "ตั๋วพับ" มีลักษณะเป็นแถว แถวละ 5 ใบพันซ้อนกัน การใช้จะใช้มือฉีก (เล็บฉีก) สมัยก่อนพนักงานผู้เก็บค่าโดยสารจึงนิยมไว้เล็บกันยาวพอสมควร เพื่อสะดวกในการฉีกตั๋ว ลักษณะตั๋วมีสีต่างตามชนิดราคา เช่น 5 สต. 10 สต. 15 สต. เป็นต้น ตั๋วพับหนึ่งปึกหนึ่งจะมี 100 ใบ 500 ใบ วิธีใช้จะใช้ผ้าหนาๆ เย็นเป็นเข็มกลัดรัดตั๋วไว้เป็นพับๆ ยามประมาณ 5-6 นิ้ว กว้าง1นิ้วพอดีเท่ากับตั๋ว (ซึ่งลักษณะเป็นเล่มยาวๆแบบตั๋วคูปองนักเรียนแต่จะยาวกว่า) โดยจะใช้ฉีกตั๋วเป็นใบๆให้แก่ผู้โดยสาร

ต่อมาในราวปี พ.ศ.2461 บริษัทนายเลิศ ซึ่งเป็นบริษัทเดินรถเมล์ในกรุงเทพเป็นครั้งแรก ได้นำตั๋วพับของเรือเมล์มาใช้กับรถเมล์ขาวของบริษัทนายเลิศเป็นครั้งแรก ซึ่งโรงพิมพ์ตั๋วรถเมล์ดูเหมือนจะมีไม่มากในสมัยนั้น เช่น ที่โรงพิมพ์รวมช่าง อยู่แถวตลาดน้อย หรือที่ร้านศิริวิทย์ ย่านบางลำพู เป็นต้น

ต่อเมื่อเพื่อสะดวกในการเก็บค่าโดยสารได้รวดเร็วขึ้น บริษัทนายเลิศได้เปลี่ยนตั๋วพับมาเป็นตั๋วม้วนพร้อมกับนำกระบอกตั๋วมาใช้ควบคู่กันเป็นบริษัทแรก กระบอกตั๋วสมัยก่อนทำด้วยโลหะทองเหลือง ยาวประมาณ 1 ฟุต มีขนาดเดียว ทำเป็นช่องๆ 4-5ช่อง โดยมีตั๋วสำรองเก็บไว้ในแต่ละช่อง เพื่อเตรียมพร้อมตั๋วมีแต่ละขนาดราคา กระบอกตั๋วนี้จะใช้เก็บตั๋วอย่างเดียว ไม่ใช้เก็บเศษเหรียญหรือค่าโดยสารอย่างปัจจุบัน ซึ่ง พกส.จะมีกระเป๋าสะพายไว้เก็บเงินโดยเฉพาะ (เป็นลักษณะคล้ายกระเป๋าสุภาพสตรี แต่ใบจะเล็กกว่ามีสายสะพายยาวไว้คล้องช่วงคอและบ่า)

ในระยะหลังต่อมาพิจารณาเห็นว่า กระเป๋าสายสะพายเกะกะไม่สะดวกต่อการใช้ เพราะต้องเบียดเสียดกับผู้โดยสารจึงไม่คล่องตัวเท่าที่ควร จึงหันมานิยมใช้เศษเหรียญเก็บในช่องกระบอกตั๋วแทน โดยทำเป็นช่องใหญ่กว่าเก็บตั๋วธรรมดา กระบอกตั๋วจึงมีลักษณะความยาวแตกต่างกันตามแต่ละบริษัท เพราะบางบริษัทมีตั๋วราคาเดียว หรือ 2-3ราคา ตามความเหมาะสม แต่ที่นิยมใช้กันมีอยู่ 3 ชนิด คือชนิดสั้น ชนิดกลาง และชนิดยาว และต่อมาได้เปลี่ยนชนิดทำด้วยโลหะทองเหลืองมาเป็นทำด้วย โลหะสังกะสีตะกั่ว ซึ่งแหล่งจำหน่ายกระบอกตั๋วมีอยู่ตามย่านตลาดใหญ่ๆ เช่น แถวเฉลิมกรุง ย่านบางลำพู เป็นต้น
จากนั้นได้วิวัฒนาการดัดแปลงกระบอกตั๋วมาเป็นแบบ สแตนเลส ตามความนิยมแทน ทั้งนี้ เพื่อคงทนถาวรและสวยงาม ปัจจุบันหาซื้อได้ตามแหล่งตลาดใหญ่ๆ ในราคา 150-200 บาทตามแต่ลักษณะสั้นยาว

กระบอกตั๋ว นับว่ามีความสำคัญต่ออาชีพกระเป๋ารถเมล์อย่างยิ่ง จะเรียกว่า "กระบอกตั๋วคู่ชีพ พกส." ก็เห็นจะไม่ผิด เพราะก่อนจะขึ้นมาเป็นพนักงานเก็บค่าโดยสารนั้น ทุกคนจะต้องมี "กระบอกตั๋ว" ติดตัวเตรียมพร้อมเสมอ มีฉะนั้น จะไม่มีโอกาสได้ขึ้นปฏิบัติหน้าที่บนรถอย่างเด็ดขาด ดังนั้น เสียงแก๊ปๆ... ที่ได้ยินได้ฟังนั้น แม้อาจจะทำให้เป็นที่น่ารำคาญบ้างก็ตาม...แต่คุณค่าของมันนั้นนับว่าสำคัญไม่น้อย เพราะวันหนึ่งๆ สามารถหารายได้เข้าองค์การฯ วันละ 14-15 ล้านบาททีเดียว และทำให้องค์การฯยืนหยัดมาได้ถึง ปัจจุบัน
###สรุปก็คือว่าการเรียกคนเก็บสตางค์รถเมล์ว่า กระเป๋ารถเมล์ ทั้งที่อุปกรณ์ที่ใช้เก็บเงินนั้นเป็นกระบอกตั๋ว ไม่ใช่กระเป๋า ก็เพราะว่า ในสัยก่อนคนเก็บสตางค์จะมีกระเป๋าหนังใบใหญ่คล้องไหล่ไว้ใส่เงิน กระเป๋านี้แหละที่ทำให้เราเรียกพนักงานเก็บค่าโดยสารว่า ''กระเป๋ารถเมล์ '' มาจนบัดนี้



http://www.bangkokbusclub.com/forums/index.php?topic=454.0